top of page

การผ่าตัดต่ออวัยวะ

การผ่าตัดต่ออวัยวะ คืออะไร


หมายถึง การผ่าตัดที่กระทำในผู้ป่วยที่มีอวัยวะอันได้แก่ แขน ขา มือ นิ้วหรืออวัยวะเพศขาดออกไปจากร่างกาย หรือไม่ขาดออกไปจากร่างกายหมด แต่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนที่ได้รับบาดเจ็บถูกทำลาย

การผ่าตัดนี้จะต้องมีการเชื่อมต่อเส้นเลือดหรือสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ปลายอวัยวะที่ต่อนั้นให้มีชีวิตอยู่ได้


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด 1. นิ้วหัวแม่มือขาด 2. ฝ่ามืออื่นๆขาดหลายนิ้ว 3. ผ่ามือหรือมือขาดทั้งมือ 4. แขน หรือต้นแขนขาด 5. ขาขาด เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอวัยวะขาดจะต้องช่วยเหลืออย่างไรบ้าง หลักการช่วยเหลือเฉพาะที่เบื้องต้นในผู้ป่วยที่อวัยวะขาด คือ 1. ต้องห้ามเลือดก่อน โดยเฉพาะถ้าเป็นการขาดบริเวณ แขน ต้นแขน ขา จะมีเลือดออกมากต้องใช้

ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซจำนวนมากๆปิดแผล กดให้แน่นเพื่อห้ามเลือด 2. ตรวจสอบดูว่า อวัยวะที่ขาดนั้นขาดออกจากตัวผู้ป่วยหรือเปล่า ถ้าขาดออกไปเลยต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งจะกล่าวในอันดับต่อไป ถ้ายังมีเนื้อเยื่อบางส่วนติดกันอยู่ หลังจากห้ามเลือดแล้ว พยายามประคองให้ส่วนที่ขาดไม่ถูกดึงรั้งไปมา เพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 3. เมื่อให้การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแล้ว การจะส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลนั้น

ควรโทรศัพท์ติดต่อไปตรวจสอบดูก่อนเพื่อขอคำปรึกษาว่า โรงพยาบาลนั้นๆมีแพทย์พร้อมจะทำการผ่าตัดได้หรือเปล่า เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาย้ายโรงพยาบาลในภายหลัง การเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาด นิ้วขาด แขนขาด มือขาด ขาขาด ควรใช้ถุงพลาสติกสะอาดสวมแล้วรัดปากถุงให้แน่น จากนั้นจุ่มทั้งถุงลงในน้ำที่มีน้ำแข็งอยู่ด้วย เพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เย็นจนเกินไป (อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 4 องศาเซลเซียส) ห้ามนำอวัยวะที่ขาดแช่ในน้ำแข็งที่ไม่มีน้ำปนเด็ดขาด เพราะเนื้อเยื่อจะเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง

จะทำให้เซลล์ตาย การเก็บรักษาวิธีนี้ จะทำให้ นิ้วทนการขาดเลือดได้ถึง 24 ชั่วโมง แขน ขา มือ ทนการขาดเลือดได้ถึง 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยถูกส่งไปถึงแพทย์แล้ว แพทย์จะทำอะไรบ้าง แพทย์เฉพาะทางด้านการต่ออวัยวะหรือที่เรียกว่า จุลศัลยแพทย์ (Micro Surgeon) จะเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเชื่อมต่อ เส้นเลือด เส้นประสาทขนาดเล็กๆ ตั้งแต่ 0.6 มิลลิเมตร ขึ้นมาจนถึงเส้นเลือดขนาดใหญ่บริเวณ ต้นแขน ต้นขา ซึ่งแพทย์จะมีขั้นตอนการรักษาดังนี้


1.ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนว่า เป็นการบาดเจ็บเฉพาะบริเวณอวัยวะที่ขาด หรือมีการบาดเจ็บของระบบร่างกายส่วนอื่นด้วย เช่น สมอง ช่องท้อง ทรวงอก การบาดเจ็บที่ไหนที่ต้องให้การรักษาด่วน เพื่อรักษาชีวิตไว้ก่อน แล้วจึงมาทำการรักษาอวัยวะที่ขาด หรือประเมินดูว่าผู้ป่วยจะสามารถทนการผ่าตัดเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมงได้หรือไม่ เช่น ผู้ป่วยอายุมากๆ สภาพร่างกายไม่แข็งแรง

2.ประเมินสภาพอวัยวะที่ขาดว่าเหมาะสมที่จะทำผ่าตัดต่อกลับเข้าไปใหม่หรือไม่ เช่น สภาพมือที่แหลกเหลวเนื่องจากเครื่องบดเนื้อหรือถูกปั้นจั่นทับ เป็นต้น การเก็บรักษาถูกต้องหรือไม่ ระยะเวลานานเท่าไรตั้งแต่เกิดเหตุจนมาพบแพทย์ โดยเฉพาะส่วนของแขน ขา ซึ่งมีกล้ามเนื้อมาก ถ้าทิ้งไว้นานเกิน

6-8 ชั่วโมงแล้วนั้น พวกกล้ามเนื้อซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ทนต่อการขาดเลือดมาเลี้ยงนานๆไม่ได้ จะเกิดการสลายตัวเกิดเป็นของเสียมากมาย หลังจากที่แพทย์ต่อเส้นเลือดแล้วของเสียเหล่านี้จะทะลักเข้าสู่กระแสเลือด ในปริมาณที่มากจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ความสกปรกอย่างมากของอวัยวะที่ขาดออกไปก็อาจทำให้มีการติดเชื้อที่รุนแรงได้เช่นกัน

3.0 เมื่อแพทย์ประเมินสภาพทุกอย่างและตัดสินใจผ่าตัดต่ออวัยวะให้กับผู้ป่วย การผ่าตัดก็จะเริ่มดังนี้

3.1 ยึดกระดูกที่หักเข้ากันด้วยโลหะดาม

3.2 เย็บซ่อมแซมเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง เส้นประสาทโดยใช้เทคนิคทางจุลศัลยกรรม

โดยใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ มีความละเอียดอ่อนมาก ใช้ไหมเย็บเส้นเลือดขนาดเล็กๆเพื่อให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนที่ขาดได้

3.3 เย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เย็บตกแต่งบาดแผลที่ผิวหนัง ขั้นตอนจะทำอะไรก่อน-หลังนั้น แพทย์จะต้องพิจารณาความเร่งด่วนเป็นหลัก เช่น เนื้อเยื่อถ้าขาดเลือดมานานแล้ว หรือมาพบแพทย์ค่อนข้างช้า อาจต้องผ่าตัดต่อเส้นเลือดแดงเป็นอันดับแรก เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ก่อน

3.4 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว

แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้


ผลการผ่าตัดต่ออวัยวะ

สิ่งที่แพทย์หวังนั้น มิใช่เพียงให้ผู้ป่วยรายนั้นๆมีอวัยวะอยู่ครบเท่านั้น แต่ต้องการให้อวัยวะที่อยู่นั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นผลระยะยาวและขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างคือ

1. สภาพความชอกช้ำของเนื้อเยื่อที่นำมาผ่าตัด ต่อความสกปรก การติดเชื้อก่อนมาพบแพทย์ เช่น

ถูกรถเฉี่ยวแขนขาดแล้วแขนตกลงไปในน้ำครำ เป็นต้น ปัจจัยนี้มีผลต่อการอุดตันของหลอดเลือดหลังผ่าตัดทั้งสิ้น

2. ประสบการณ์ของทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด

3. ความเข้าใจ ความร่วมมือของผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งในระยะก่อนและหลังผ่าตัด

4. การวางแผนการรักษาที่ต่อเนื่องอย่างเหมาะสม


หลังจากที่กระดูกในส่วนของอวัยวะที่ต่อเชื่อมติดดีแล้ว ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัด บางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติม อีกเพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุดได้แก่

- การผ่าตัดแก้ไขการยึดติดของเส้นเอ็น ข้อหรือการผ่าตัดเพื่อสร้างเส้นเอ็นใหม่

- การผ่าตัดเพื่อเชื่อมกระดูกเพิ่มเติม ในกรณีกระดูกไม่ติดแข็งแรงในเวลาที่เหมาะสม

- การผ่าตัดเพื่อถอดโลหะดามกระดูกออก เพื่อเริ่มการทำกายภาพบำบัด


สรุป

ในการผ่าตัดต่ออวัยวะนั้น บางครั้งดูเพียงผิวเผินเหมือนกับว่าเป็นการเย็บแผลที่ผิวหนังบริเวณรอยต่อของอวัยวะที่ขาดจากกันให้มาติดกันเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วในส่วนที่ลึกลงไปใต้แผลที่ผิวหนังนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีเทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมากมาย





บทความโดย

นพ.วิชิต ศิริทัตธำรง

ศูนย์ศัลยกรรมมือ (จุลศัลยกรรม)

จากเพจ facebook.com/wichit.siritattamrong

10 views0 comments

Comments


LINE_SOCIAL_Circle.png
bottom of page